วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ทัวร์มะริด ท่องเที่ยวเมืองมะริด แบบมืออาชีพ sunitjo travel 098-0641749


ทัวร์มะริด ท่องเที่ยวเมืองมะริด แบบมืออาชีพ sunitjo travel   098-0641749

ประมาณ5ปีที่แล้ว ภาพเกาะที่มีหาดทรายขาวเรียงรายไปด้วยบ้านประมงที่สร้างอย่างเรียบง่ายหลังเล็กๆ เคียงคู่กับน้ำทะเลสีฟ้าและภูเขาน้อยๆ ด้านหลังที่แทรกเต็มไปด้วยต้นมะพร้าวสีเขียวสด กับตัวอักษรที่มีฟอนต์แนว Retro เขียนกำกับไว้สั้นๆ ว่า “มะริด หนึ่งมิตรผู้ชิดใกล้” บนหน้าปกหนังสือสาละวินโพสต์ เป็นภาพแรกที่ได้เห็นจากเมืองนี้ ดินแดนที่ตั้งใจอยากค้นหามากที่สุดแห่งหนึ่ง และกลายเป็นภาพติดตา ติดใจมาตลอด เมื่อนึกถึง “มะริด”

มะริด หนึ่งในสามจังหวัดของแคว้นตะนาวศรี มีชื่อเป็นทางการในภาษาพม่าว่า “Myeik” ซึ่งหากเทียบรูปอักษรพม่าในอักษรไทยแล้วจะเขียนว่า “มริด” เหมือนกัน มีที่มาของชื่อจาก ”หลักที่ใช้พันม้า” เมื่อกษัตริย์สยามมาถึงที่นี่ในยามรุ่งเช้า ในสมัยอาณานิคมอังกฤษเรียกเมืองนี้ว่า “Mergui” แต่ชาวมะริดกลับเรียกเมืองที่ตนอาศัยอยู่ว่า “Beik” ในภาษาท้องถิ่นแบบฉบับของตัวเอง

มะริด ชื่อเมืองที่คนไทยคุ้นหูเป็นอย่างดี หากจะวัดกันจากแผนที่แล้ว มะริดอยู่ในละติจูดที่ใกล้เคียงกับเมืองปราณบุรี ซึ่งห่างกันประมาณเพียง 150km เท่านั้น ใกล้ยิ่งกว่าระยะทางจากปราณบุรีมากรุงเทพเสียอีก แต่กลับดูเหมือนเมื่อนี้ช่างแสน...ห่างไกลกันมาก

ด้วยทำเลที่ตั้งของเมืองตั้งอยู่บนเกาะที่เกิดจากตะกอนของปากแม่น้ำตะนาวศรีหลวง และมีเกาะต่างๆ มากมายที่ตั้งอยู่ใกล้ ทั้งเกาะ Kadan (หรือเกาะ King) เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน 800 เกาะของกลุ่มหมู่เกาะมะริด รวมถึงเกาะ Pataw Padet เกาะเล็กๆ ฝั่งตรงข้ามมะริด เป็นที่ตั้งฟาร์มปูนิ่มของคนไทยและอู่ต่อเรือ รวมไปถึงพระนอนขนาดใหญ่จุดหมายตาของเรือเมื่อวิ่งแล่นเข้าสู่มะริดในทิศใต้ และพระยืนจุดหมายตาของเรือเมื่อวิ่งแล่นเข้าสู่มะริดในทิศเหนือเช่นกัน จึงกลายเป็นเกาะกำบังลมสมุทรได้เป็นอย่างดี ทำให้มะริดกลายเป็นเมืองท่านานาชาติที่สำคัญมาก ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้ง พม่า มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฮอลันดา อินเดีย อิหร่าน จีน จีนช่องแคบ ญี่ปุ่น มลายู และสยาม ที่นี่จึงมีวัดพุทธ วัดฮินดู ศาลเจ้าจีน มัสยิด โบสถ์คริสต์ มากมายภายในเมือง

อดีตมะริดมีฐานะเป็นนครรัฐอิสระร่วมสมัยเดียวกับเมืองทวาย ซึ่งเป็นกลุ่มชนเดียวกัน มีบันทึกโบราณตั้งแต่พ.ศ.735 เคยกล่าวว่า พระเจ้าพหิกราชา กษัตริย์แห่งตะนาวศรีทรงขอกำลังจากยะไข่มาช่วยทำสงครามกับสยาม (สมัยนั้นพื้นที่สยามอาจเป็นมอญทวารวดี แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันก็เป็นได้) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นมิตรกับเมืองยะไข่ ในลักษณะเดียวกับเมืองทวายเช่นกัน ก่อนที่มะริดจะถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพุกาม จนถึงค.ศ.1287 สุโขทัยก็สามารถตีและยึดได้ มะริดจึงถูกปกครองโดยสยามต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา อาจมีบ้างที่ถูกพม่ายึดไปในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จนกระทั่งถึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเมื่อค.ศ.1765 อย่างสิ้นเชิง ต่อเนื่องมาจนถึงค.ศ.1826 มะริดจึงตกเป็นเมืองอาณานิคมของอังกฤษ พร้อมกับทวายและแคว้นตะนาวศรี รวมๆ แล้วก็อาจอยู่ภายใต้การปกครองของสยามกว่า 400ปี

มะริดเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีฐานะเป็นหนึ่งในสองเมืองท่าฝั่งอันดามันที่มีความสำคัญยิ่งของอยุธยา (อีกเมืองคือภูเก็ต) สยามเคยให้ชาวอังกฤษคือ Samuel White และคนถัดมาชาวฝรั่งเศสคือ Chevalier de Beauregard ปกครองเป็นเจ้าเมืองที่นี่ เนื่องจากสยามต้องการใช้มะริดเป็นเมืองท่าในการติดต่อกับเมือง Madras อินเดียและชาติตะวันตก ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกับเมืองตะนาวศรีที่อยุธยาสร้างขึ้นเองเพื่อสามารถใช้เป็นเส้นทางลำเลียงขนสินค้าไปยังอยุธยาได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมแหลมมลายูกับโจรสลัดที่ชุกชุม จนกระทั่งมะริดตกไปขึ้นกับพม่า จึงหมดความสำคัญลง เนื่องจากไม่ได้อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของฝ่ายพม่าเทียบกับสมัยที่อยู่ใต้การปกครองของสยาม

ปัจจุบันยังมีหลักฐานจากยุครุ่งเรืองสมัยสยามปกครอง ให้เห็นได้มากมายในเมืองนี้ โดยเฉพาะพระพุทธรูปศิลปะแบบสยามเมืองมะริด ที่ลักษณะแตกต่างจากพระพุทธรูปพม่า จำแนกง่ายๆ คือพระพุทธรูปแบบสยามจะมีพระเมาลีแหลม ในขณะที่แบบพม่าจะไม่มีพระเมาลี ซึ่งสยามนิยมสร้างพระพุทธรูป ส่วนพม่านิยมสร้างเจดีย์ ซึ่งยังพบพระพุทธรูปศิลปะแบบสยามเมืองมะริดได้มากมาย ทั้ง พระลอยตามน้ำมาสองพี่น้อง องค์พี่ประดิษฐานอยู่ที่กุฏิวัดมัณฑะเลย์ องค์น้องประดิษฐานอยู่ที่วัด Wattaik kyuang (หรือเรียกว่าวัดไท) หรือรูปแบบการสร้างพระพุทธรูป 3 องค์เรียงกันในโบสถ์ มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์อยู่ด้านหน้าสุด ปางสมาธิอยู่ตรงกลาง และปางไสยาสน์อยู่ด้านหลังสุด พบทั้งที่โบสถ์ วัด Laykywanhsimee Setitawkyee (หรือวัดพระธาตุเมืองมะริด) และวัด Taw Kyaung ซึ่งในระเบียงคตเองก็ยังเป็นพระพุทธรูปแบบสยามทั้งสิ้น หรือลักษณะปูนปั้นพญานาคที่ส่วนใหญ่เป็นลวดลายแบบสยาม โดยเฉพาะวัด Wattaik kyuang

ชาวมะริด มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน ทั้งสำเนียงภาษาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษาพม่าสำเนียงทวาย แต่ทว่าก็มีความแตกต่างกันทั้งบางเสียงที่มีลักษณะเฉพาะ หรือคำศัพท์ที่แตกต่างกันออกไปมากมาย ภาษาพม่าสำเนียงมะริดใช้กันตั้งแต่แถบเมือง Palaw ซึ่งเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างทวายกับมะริดไปจนสุดแหลม Victoria Point ที่เกาะสอง นอกจากนี้แล้ว อาหารท้องถิ่นแบบฉบับของมะริดนั่น โดยเฉพาะ Kut kyae kaik หรือก๋วยเตี๋ยวผัด อันโด่งดังไปทั่วพม่า มีต้นกำเนิดที่มะริด ซึ่งสามารถหาทานได้ง่ายตามตรอกซอกซอยทั่วทุกหนแห่งในเมือง ที่สำคัญทั้งวิธีการปรุง รสชาติอาหาร เป็นแบบเดียวกับ Char Kway Teow อาหารท้องถิ่นแบบจีนช่องแคบ (จีนบาบ๋า) ที่มีชื่อเสียงของเกาะปีนังในปัจจุบัน ซึ่งอาหารนี่เองเป็นอัตลักษณ์เด่นของชาวจีนกลุ่มนี้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างปีนังกับมะริดมาอย่างยาวนาน และกลายเป็นชนกลุ่มหลักของมะริดนี้ ว่ากันว่ามีลูกหลานชาวจีนช่องแคบอาศัยอยู่มากกว่าประชากรกลุ่มพม่าแท้อีกด้วย ชาวจีนช่องแคบหรือที่ชาวพม่าเรียกว่า ชาว Pashu (บางทีครั้งอาจหมายถึงกลุ่มชาวมลายูก็ได้) ตั้งถิ่นฐานในพม่าตั้งแต่เมืองมะริด,ทวาย,มะละแหม่ง จนถึงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนช่องแคบจากเกาะปีนังที่ขยายตัวขึ้นไปตอนบนในเขตอาณานิคมอังกฤษเดียวกัน ได้ตกทอดมรดกสู่ปัจจุบันคืออาหารนอกเหนือไปจากกลุ่มอาคารบ้านเรือนเจ้าสัวของชาวจีนช่องแคบที่ยังหลงเหลือรอดพ้นจากเหตุเพลิงไหม้ในมะริดหลายต่อหลายครั้ง

หากทวายเป็นความสงบงาม เรียบง่าย อ่อนหวาน น่าชวนมองแล้ว มะริดคงเป็นความคึกคัก เคลื่อนไหว มีสีสัน หลากหลาย ทว่ามีเสน่ห์ชวนค้นหาอย่างน่าหลงใหล

ความหลากหลายผู้คน ชนชาติ ศาสนา ที่ไม่ต่างไปจากเมืองท่าใหญ่ๆ ทั้งย่างกุ้ง ปีนัง อาเจะห์ สิงคโปร์ บางกอก โฮจิมินห์ มะนิลา จาการ์ตา กลับกลายเป็นเบ้าหลอมรวมวัฒนธรรมให้เมืองนี้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง มีเสน่ห์ชวนค้นหาโดยเฉพาะความเป็นสยามที่ถูกเก็บซ่อนไว้ตามมุมต่างๆ ของเมือง รอคอยชาวสยามให้ได้มาค้นพบ ดั่งย้อนกาลกลับไปยังสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ อันรุ่งเรือง เหมือนดั่ง....หนึ่งมิตรที่เคยมากกว่าชิดใกล้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น